ผ่านพ้นไปอย่างตื่นเต้น! เนคเทค-สวทช. จับมือพันธมิตรจัด “รวมพลคน KidBright Online” ครั้งที่ 3 แข่งขัน KidBright AI Bot Tournament ด้วยภาษาถิ่น – ทีมโรงเรียนเกษตรสมบูรณ์วิทยาคม จังหวัดชัยภูมิ แชมป์สุดยอด KidBright AI Bot คว้าเงินรางวัล 150,000 บาท
18 กุมภาพันธ์ 2564 บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) จัดกิจกรรม “รวมพลคน KidBright online” ครั้งที่ 3 KidBright Developer Conference 2021 (KDC21) ภายใต้ธีมงาน: Data Science with KidBright โดย ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในการเปิดงาน รวมพลคน KidBright และการแข่งขัน KidBright AI Bot Tournament ด้วยเสียงภาษาถิ่น สำหรับในปีนี้ มีความพิเศษกว่าสองครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ (COVID-19) ทำให้ปีนี้มีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานเป็นแบบ Online เพื่อให้ผู้สนใจทั่วประเทศสามารถเข้าร่วมกิจกรรม
- ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า
ยินดีที่มีโอกาสได้มาเห็นความก้าวหน้างานวิจัยด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่พัฒนาโดย สวทช. ได้แก่ KidBright (คิดไบรท์) บอร์ดส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งและสะเต็ม เว็บแอปพลิเคชันสอนวิทยาศาสตร์ข้อมูล และแพลตฟอร์มสอนปัญญาประดิษฐ์ เพื่อใช้พัฒนาทักษะแห่งอนาคตและความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย
- งานวิจัยเหล่านี้ มุ่งตอบโจทย์ตามยุทธศาสตร์ 4 เสาหลักของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อันได้แก่
- การสร้างบุคลากรและพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรม
- เผยแพร่องค์ความรู้ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่ประชาชน
- การนำองค์ความรู้ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เข้าถึงประชาชนทุกระดับ สนับสนุนการพัฒนาการเติบโตของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ
- บูรณาการทุกภาคส่วนในกระทรวง อว. สนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ สร้างความเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ของกระทรวง อว. ได้แก่ การรายงานกิจกรรมต่างๆ ในการส่งเสริมการเรียนเทคโนโลยีในโรงเรียนด้วยนวัตกรรมที่พัฒนาโดย สวทช. แสดงให้เห็นถึงการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างขึ้นไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะกับทุกช่วงการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา เผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมแก่ผู้สนใจในประเทศนำไปต่อยอดในด้านสังคมและเชิงพาณิชย์ ด้วยการเปิด Open source แพลตฟอร์มการสอนปัญญาประดิษฐ์ และ Open Data ข้อมูลจากสถานีวัดสภาพอากาศด้วยบอร์ด KidBright เพื่อใช้ในการเรียนวิทยาศาสตร์ข้อมูล และประชาสัมพันธ์กิจกรรมความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภายในและภายนอกกระทรวง รวมถึงนักพัฒนา Makers และภาคอุตสาหกรรมในการยกระดับรูปแบบการเรียนให้ทันสมัย และขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
- ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) กล่าวว่า
งาน“รวมพลคน KidBright หรือ KidBright Developer Conference ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นปีที่พิเศษกว่าครั้งที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ (COVID-19) แพร่ระบาด จึงทำให้ปีนี้ต้องเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานเป็นรูปแบบ Online ในปี 2560 เนคเทค-สวทช. ได้รับงบประมาณสนับสนุนให้จัดทำ โครงการ KidBright : Coding at School project โดยได้แจกบอร์ด KidBright จำนวน 200,000 บอร์ด ให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ ไม่ต่ำกว่า 2,200 โรง และจัดอบรมการสอนโค้ดดิ้งให้กับบุคลากรผู้ฝึกสอน (Trainer) ตามภูมิภาคจำนวนไม่ต่ำกว่า 5,000 คน
ในปี 2563 ที่ผ่านมา เนคเทค-สวทช.ได้รับงบประมาณสนับสนุนใน โครงการพัฒนาครูและสร้างความเข้าใจและพื้นฐานการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ให้กับเด็กและเยาวชน จากโปรแกรม (Program) P4 ส่งเสริมปัญญาประดิษฐ์เป็นฐานการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต (AI for All) เพื่อพัฒนากำลังคนและสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โครงการได้นำบอร์ด KidBright มาต่อยอดสร้างเป็นชุดสื่อการเรียนการสอน เรียกว่า “UtuNoi STATION” สถานีวัดสภาพอากาศที่ส่งข้อมูลผ่านบอร์ด KidBright ขึ้นบนระบบอุตุน้อย เพื่อให้นักเรียนทั่วประเทศนำข้อมูล มาวิเคราะห์ร่วมกัน จึงเป็นที่มาของธีมในงาน: “Data Science with KidBright”
ที่ผ่านมา เนคเทค-สวทช. ได้เปิดตัว AI Bot ที่ชื่อว่า “ขนมชั้น” หุ่นยนต์สอนปัญญาประดิษฐ์ ในระยะเวลา 1 ปี เนคเทค-สวทช. ได้ปรับปรุงให้เป็น KidBright AI Platform แพลตฟอร์มการเรียนรู้ระบบปัญญาประดิษฐ์ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจกระบวนการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ ตั้งแต่การเก็บข้อมูล การติดป้ายกำกับ การสร้างโมเดล ไปจนถึงการประยุกต์ใช้โมเดลผ่านการสร้างชุดคำสั่งแบบบล็อก ได้อบรมและส่งมอบให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ ร่วมกับคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 700 โรง และสร้างเทรนเนอร์ ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน
- ในปีเดียวกันนี้ทาง เนคเทค-สวทช. ได้รับงบประมาณสนับสนุนใน โครงการพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลแก่ครูและเยาวชนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
เพื่อจัดการอบรมความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและส่งเสริมทักษะด้าน Computational Science ได้แก่ Coding, Embedded System, Internet of Things (IoT), รวมทั้งการใช้เครื่องมือจาก FabLab เช่น 3D Printer, Laser Cutter เพื่อพัฒนาชิ้นงาน/โครงการนวัตกรรมที่กำหนดขึ้นในค่ายอบรม (Workshop) โดยจะจัดอบรมให้กับครูและเยาวชนในเขตพื้นที่ EEC ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่ประเทศไทย 4.0
การแข่งขัน KidBright AI Bot Tournament ด้วยภาษาถิ่น ในกิจกรรม “รวมพลคน KidBright Online” ครั้งที่ 3
- ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) กล่าวว่า
การประกวดแข่งขัน KidBright AI Bot Tournament ด้วยเสียงภาษาถิ่น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบ STEM แก่นักเรียนทั่วประเทศ โดยทางโครงการฯ ได้เปิดรับสมัครผู้เข้าแข่งขันตั้งแต่วันที่ 1-30 ธันวาคม 2563 มีผู้สมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 95 โครงการ จากทั่วประเทศ โดยคัดเหลือผู้เข้ารอบ 40 ทีม อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ผู้จัดฯ ต้องเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันและจัดอบรมให้ผู้เข้าแข่งเป็นรูปแบบ ออนไลน์ ในหลักสูตร”ออนไลน์ KidBright AI x Voice Classification” เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันสามารถสร้างโมเดลด้วยเสียงภาษาถิ่น ผ่าน KidBright AI Platform เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 โดยผู้เข้าแข่งขันทั้ง 40 ทีม ได้พัฒนาโมเดลและส่งผลงานเข้ามาให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางด้าน AI ตัดสิน สู่ 8 ทีมสุดท้ายซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละภูมิภาคมาร่วมแข่งขันในวันนี้ ทางผู้เข้าแข่งขันยังได้รับกำลังใจจากกองเชียร์ตามภูมิภาคต่าง ๆ โดยมีโรงเรียนและนักเรียนที่สมัครเข้าร่วมเป็นกองเชียร์ จำนวน 91 โรงเรียน มีนักเรียนเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 4,000 คน
- ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) ในฐานะประธานในพิธีปิด กล่าวว่า
จากวัตถุประสงค์ของกิจกรรม “รวมพลคน KidBright” (KDC21) ที่จะเป็นหนึ่งกำลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาไทยให้เป็นเลิศด้วยนวัตกรรม และสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรม Science Toy ของประเทศ ทางทีมวิจัยและศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) จึงได้เผยแพร่ผลงานวิจัย KidBright AI Platform ให้ผู้สนใจหรือนักพัฒนานำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการเรียนปัญญาประดิษฐ์ เปิดตัว UtuNoi PLAYGROUND เพื่อส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์ข้อมูลในโรงเรียน และสุดท้ายจัดกิจกรรมแข่งขัน KidBright AI Bot Tournament ควบคุมการขับเคลื่อนของ KidBright AI Bot ด้วยภาษาถิ่น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบ STEM แก่นักเรียนทั่วประเทศ ทางผู้จัดงานหวังว่าผู้เข้าร่วมการแข่งขันและผู้ชมทาง online จะได้เห็นถึงศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยให้เกิดความเข้าใจและกระตุ้นให้เกิดความสนใจในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ นำไปสู่การสร้างทรัพยากรที่มีความรู้สูงเป็นกำลังในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป
ผลการแข่งขัน KidBright AI Bot Tournament ด้วยภาษาถิ่น
รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 สุดยอด KidBright AI Bot ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 150,000 บาท
ทีมตัวแทนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงเรียนเกษตรสมบูรณ์วิทยาคม จังหวัดชัยภูมิ
หัวหน้าทีม ว่าที่ร้อยตรีอนุสรณ์ จำรัส | ผู้ร่วมทีม นายองอาจ บุญประมวล และ เด็กชายณนนท์ บุญประมวล
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับ เงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท
ทีมตัวแทนจากใต้ โรงเรียนแสงทองวิทยา จังหวัดสงขลา
หัวหน้าทีม นายเจษฎา ประวาลปัทม์กุล | ผู้ร่วมทีม นายธนอนันท์ เฉลิมพันธ์ และ นายปวริศ พันธุ์สถิตย์วงศ์
รางวัลชนะเลิศอันดับ 3 ได้รับ เงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท
ทีมตัวแทนจากภาคกลาง โรงเรียนธัญรัตน์ จังหวัดปทุมธานี
หัวหน้าทีม นายเชาวลักษณ์ ชาวงษ์ | ผู้ร่วมทีม นายสมควร แสงพินิจ และ นายวงศธร ศิริ
รางวัลชมเชย ได้รับ เงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท
ทีมตัวแทนจากภาคเหนือ โรงเรียนบ้านแซววิทยาคม จังหวัดเชียงราย
หัวหน้าทีม นายเรวัตร วงศ์วุฒิ | ผู้ร่วมทีม นายณัฐวุฒิ กันนา และ นายรัฐศาสตร์ หมื่นเงิน
- งาน “รวมพลคน KidBright Online” KidBright Developer Conference 2021 (KDC21): Data Science with KidBright พร้อมที่จะช่วยสร้างเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์แก่นักเรียนในสระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งที่ผ่านมาการเรียนรู้จากการลงมือทำด้วยโจทย์ใกล้ตัว และที่นักเรียนคิดเองนั้นจะเกิดความสนุก และความภาคภูมิใจทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้ในระดับลึกมากขึ้นในระดับอุดมศึกษา สามารถที่จะพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และสร้างสรรค์ผลงานสู่อนาคตต่อไป