
เปิดรับสมัครการประกวดแข่งขัน KidBright STEAM EEC 2023
วัตถุประสงค์
- เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้รูปแบบ STEAM Education ในพื้นที่ EEC
- เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยเกิดความสนใจในการเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง AI และหุ่นยนต์
- เพื่อยกระดับองค์ความรู้งานวิจัยด้าน AI และหุ่นยนต์ของประเทศไทยเทียบเท่าระดับสากล
คุณสมบัติผู้สมัคร
- ผู้เข้าแข่งขันต้องศึกษาอยู่ระหว่างชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 – 6 ในเขตพื้นที่ EEC
- ที่ปรึกษาต้องเป็นผู้ที่ผ่านการอบรม KidBright AI Platform (หลักสูตรใดก็ได้) หรือเป็นผู้มีอุปกรณ์ KidBright AI Platform หรือสามารถจัดหาอุปกรณ์ KidBright AI Platform เพื่อใช้ในการแข่งขันได้ และเป็นบุคลากรประจำสถานศึกษาในเขตพื้นที่ EEC
- มีความสนใจ และมีความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนาผลงานหรือ เพื่อประยุกต์ใช้งานด้าน AIและหุ่นยนต์ สำหรับแสดงบนเวทีเพื่อสร้างความบันเทิง เช่น การเล่าเรื่องหรือเล่านิทาน การเต้น การแสดงโชว์ร่วมกับหุ่นยนต์ที่แสดงถึงการทำงานร่วมกันระหว่างหุ่นยนต์กับมนุษย์ เป็นต้น
- มีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการฯ และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ตามกำหนดการของโครงการฯ ได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการฯ หากไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมหลักได้ จะถือว่าทีมสละสิทธิ์
เงื่อนไขการสมัคร
- รับสมัครเป็นทีม ทีมละ 3 – 5 ท่าน/ทีม (นักเรียนตั้งแต่ 2 – 3 ท่าน และคณาจารย์หรือบุคลากรด้านการศึกษาอีก 1 – 2 ท่าน เป็นที่ปรึกษา)
- คิดผลงานสิ่งประดิษฐ์/เทคนิค/กระบวนการในการผสมผสานเทคโนโลยี KidBright AI Platform เทคโนโลยี AR/VR และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เข้ากับศิลปะการแสดง เพื่อสร้างความบันเทิงบนเวที โดยทำการแสดงในระยะเวลา 1 – 2 นาที ส่งเข้าร่วมโครงการฯ โดยจะเป็นผลงานที่คิดสร้างสรรค์ และพัฒนาอยู่ก่อนแล้ว หรือคิดสร้างสรรค์ใหม่ก็ได้ แต่จะต้องไม่เคยส่งประกวดที่ใดมาก่อน
- เตรียมข้อมูลตามผลงานที่จะส่งสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ในรูปแบบของ “ข้อเสนอแนวทางในการพัฒนาผลงาน (Proposal)” เพื่อชี้แจงให้คณะกรรมการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทราบถึงแนวทาง รูปแบบในการพัฒนา และการนำผลงานไปแสดง
- กรอกใบสมัคร online พร้อมส่ง “ข้อเสนอแนวทางในการพัฒนาผลงาน” ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านทางเว็บไซต์หลักของโครงการฯ ภายในวัน และเวลา ที่โครงการฯ กำหนด
- สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ครบตามวัน และเวลา ที่โครงการฯ กำหนด
รูปแบบและกระบวนการการจัดกิจกรรม
ส่วนที่ 1 การจัดอบรมเสริมทักษะเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ ผสมผสานศิลปะการแสดง ให้กับผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านการคัดเลือกรอบคัดเลือก โดยจัดอบรมระหว่างเดือนมิถุนายน 2566 จำนวน 6 หัวข้อ ได้แก่
ส่วนที่ 2 คัดเลือกรอบ 8 ทีม ผู้เข้าแข่งขันจะต้องส่งใบสมัครในรูปแบบออนไลน์ โดยจัดทำข้อเสนอแนวทางในการพัฒนาผลงานแนบในใบสมัครออนไลน์ (สามารถดาวน์โหลดตัวอย่างรูปแบบเอกสารได้ในหัวข้อด้านล่าง) ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาคัดเลือก 8 ทีม ที่มีแนวโน้มในการพัฒนาผลงานตอบโจทย์การแข่งขัน
ส่วนที่ 3 ช่วงพัฒนาผลงานและนำเสนอผลงาน โดยผู้เข้าแข่งขันจะมีเวลาในการพัฒนาผลงานหลังจากสิ้นสุดการอบรมแล้วประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นจะต้องทำการบันทึกวีดีโอผลงานของทีมประกอบด้วย วีดีโอการแสดง 1 – 2 นาที และ วีดีโอเชิงเทคนิค 15 นาที ซึ่งเป็นการอธิบายหลักการที่ประยุกต์ใช้และสาธิตการทำงานของหุ่นยนต์แต่ละส่วน พร้อมจัดทำเอกสารรายละเอียดผลงานในรูปแบบโปสเตอร์ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการสำหรับประกอบการตัดสิน โดยจะมีการสัมภาษณ์ในรูปแบบออนไลน์
ส่วนที่ 4 การประกวดแข่งขัน KidBright STEAM EEC 2023 รอบชิงชนะเลิศ เพื่อคัดเลือกผู้ชนะเลิศการประกวดแข่งขัน โดยตัดสินจากการแสดงจริงบนเวที ณ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง
ดาวน์โหลดเอกสารเผยแพร่
ระยะเวลาการแข่งขัน
การสนับสนุนจากโครงการ
ทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบ 8 ทีม จะได้รับทุนสนับสนุนสำหรับการพัฒนาผลงานต่อยอด ทีมละ 3,000 บาท และจะได้รับการสนับสนุนค่าเดินทาง และค่าอาหาร สำหรับการเข้าประกวดแข่งขัน KidBright STEAM EEC 2023 ณ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง
รางวัล
- เกียรติบัตร ผู้ผ่านการอบรมพัฒนาทักษะพื้นฐานทางด้านปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ เทคโนโลยี AR/VR และศิลปะการแสดง
- เกียรติบัตร ผู้ผ่านเข้ารอบคัดเลือก 8 ทีม การประกวดแข่งขัน KidBright STEAM EEC 2023
- เกียรติบัตร ผู้ชนะการประกวดแข่งขัน KidBright STEAM 2023
- เงินรางวัลชนะเลิศ จำนวน 20,000 บาท
- เงินรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 10,000 บาท
- เงินรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 5,000 บาท
ประกาศผลรอบคัดเลือก 8 ทีม
ตัวอย่างการออกแบบผลงาน
การแข่งขัน: KidBright OnStage 2022 – RoboCupJunior OnStage 2022
ชื่อผลงาน: หนุ่มสาวอีสานสิขออาสาพาม่วนเด้อจ้า
ทีม: Anukoolnaree by KidBright (ทีมตัวแทนประเทศไทย)
โรงเรียน: โรงเรียนอนุกูลนารี จ.กาฬสินธุ์
การรำประกอบดนตรีพื้นบ้านของชาวอีสาน โดยนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของ KidBright AIBot (Nano Pi) มาเป็นส่วนประกอบของหุ่นยนต์ผู้ควบคุมวงดนตรี (Conductor) เพื่อแยกแยะภาพอุปกรณ์จักรสาน 3 ชนิด ได้แก่ ตะกร้า ไซ และกระติ๊บ จากนั้นส่งคำสั่งผ่านสัญญาณบลูทูธไปยังหุ่นยนต์นักดนตรีเพื่อควบคุมท่าทางเสมือนเล่นเครื่องดนตรีและควบคุมหุ่นยนต์นางรำให้รำด้วยท่าทางที่แตกต่างกัน 3 ท่า โดยหุ่นยนต์นักดนตรีทั้งหมดและหุ่นยนต์นางรำเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกสั่งการควบคุมด้วยบอร์ด KidBright ให้เซอร์โวหรือมอเตอร์แต่ละส่วนขยับตามชุดคำสั่งที่ออกแบบไว้
การแข่งขัน: KidBright OnStage 2022 – RoboCupJunior OnStage 2022
ชื่อผลงาน: สายน้ำบันเทิง รื่นเริงวันลอยกระทง
ทีม: CNP Loy Krathong by KidBright (ทีมตัวแทนประเทศไทย)
โรงเรียน: โรงเรียนชัยนาทพิทยาคม จ.ชัยนาท
การแสดงการจำลองวัฒนธรรมประเพณีไทยอย่างเทศกาลลอยกระทงมานำเสนอในรูปแบบของโลกหุ่นยนต์ โดยแบ่งพื้นที่การแสดงออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนเครื่องเล่นม้าหมุนและชิงช้าสวรรค์ ส่วนเวทีรำวง และส่วนริมน้ำจำลองสำหรับลอยกระทงและลอยโคม ซึ่งมีหุ่นยนต์มัคคุเทศก์คอยนำชมงานเทศกาลเป็นหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาด้วย KidBright AIBot (IPST-AI) สำหรับแยกแยะภาพบนพื้นและเดินตามทางที่กำหนดไว้
อีกทั้งเน้นการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างหุ่นยนต์กับหุ่นยนต์ผ่านการส่งสัญญาณอินฟราเรดด้วย หุ่นยนต์และอุปกรณ์ประกอบฉากในกลุ่มการแสดงทั้ง 3 ส่วนจะเป็นการทำงานด้วยชุดคำสั่งจากบอร์ด KidBright เพื่อสั่งการควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ทั้งหมด
การแข่งขัน: KidBright OnStage 2022 (รอบ 4 ทีมสุดท้าย)
ชื่อผลงาน: โอ้ การละเล๊น
ทีม: Oh my GOT (Game Of Thailand)
โรงเรียน: โรงเรียนธัญรัตน์ จ.ปทุมธานี
การจำลองการละเล่นพื้นบ้านของไทย 4 ภาค ด้วยหุ่นยนต์อัตโนมัติ ได้แก่ ชนด้วง กาฟักไข่ งูกินหาง ชักเย่อ ซึ่งในภายหลังได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญให้เลือกการละเล่นเพียง 1 ประเภท เพื่อพัฒนาผลงานให้มีความเหมาะสมกับเวลาในการแสดง จึงออกมาเป็นการแข่งขันชนด้วง โดยประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ KidBright AIBot (JaxBot) รูปแบบการแยกแยะภาพ เป็นกรรมการตัดสินการชนด้วงด้วยการอ่านป้ายตัดสินและสั่งการบอร์ด KidBright ผ่านสัญญาณบลูทูธในการควบคุมแขนหุ่นยนต์กรรมการให้ยกธงตัดสิน นอกจากนี้ยังใช้บอร์ด KidBright เป็นอุปกรณ์ควบคุมการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ด้วงด้วย
การแข่งขัน: KidBright OnStage 2022 (รอบ 4 ทีมสุดท้าย)
ชื่อผลงาน: นกแก้วมหัศจรรย์
ทีม: NEXT LEVEL
โรงเรียน: โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ
การเล่านิทานในรูปแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) โดยอ้างอิงนิทานอีสปเรื่อง “กากับเหยือกน้ำ” ผ่านการออกแบบฉากของเรื่องอย่างป่าไม้และลำธารด้วยเทคโนโลยี AR ผสมผสานการออกแบบหุ่นยนต์นกแก้วด้วย KidBright AIBot (Nano Pi) ในการแยกแยะภาพสำหรับสั่งการการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์นกแก้ว
การแข่งขัน: RoboCupJunior OnStage 2022
ทีม: Mariteam
ประเทศ: ฝรั่งเศส
การแสดงในหัวข้อการอนุรักษ์ท้องทะเลผ่านการเล่าเรื่องที่ประกอบด้วย หุ่นยนต์ปะการัง หุ่นยนต์แมงกะพรุน หุ่นยนต์ขยะ และหุ่นยนต์เต่า โดยมีตัวละครนักดำน้ำสองคน ดำน้ำในมหาสมุทรและพบว่าเต่ากำลังว่ายวนสับสนระหว่างขยะถุงพลาสติกกับแมงกะพรุนที่มีลักษณะคล้ายกัน จึงทำการสอนให้เต่าเรียนรู้และแยกแยะสีของแมงกะพรุนออกจากสีของถุงพลาสติก เมื่อแยกแยะได้เต่าก็จะว่ายไปหาแมงกะพรุนแทน ซึ่งเทคโนโลยีเด่นของทีมนี้คือการประยุกต์ใช้กล้องเพียง 1 ตัว ที่ติดตั้งอยู่บริเวณส่วนหัวของหุ่นยนต์เต่าในการแยกแยะสี (color recognition) และตรวจจับใบหน้า (face recognition) เพื่อเปลี่ยนแปลงระดับค่าสี (สีเหลือหรือสีฟ้า) ที่จะต้องแยกแยะและว่ายตาม อีกทั้งยังมีการเรียนรู้ท่าทางมือ (hand gesture recognition) เพื่อสั่งการเคลื่อนที่ในหุ่นยนต์ขยะด้วย
การแข่งขัน: RoboCupJunior OnStage 2022
ทีม: Molibdênio
ประเทศ: บราซิล
การแสดงได้นำเอาเกมดังในตำนานอย่าง Mario Kart มาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีโลกความจริงเสมือน หรือ Augmented Reality (AR) ได้อย่างสร้างสรรค์ โดยมีการออกแบบไอเทมในเกม เช่น กล้วย หรือ ดาว ด้วยเทคโนโลยี AR แต่มีการเก็บไอเทมโดยตัวละครบนเวที ผ่านการตรวจจับวัตถุอย่างพวงมาลัยและแยกแยะด้วยกล้องที่ติดตั้งอยู่บริเวณฉากปราสาท ที่ออกแบบไว้เสมือนฉากในเกม เมื่อรถแข่งวิ่งเข้าเส้นชัยจะมีพลุจุดออกมาจากซุ้มประตูเพื่อเป็นการฉลองชัยชนะ ซึ่งบริเวณเหนือซุ้มประตูได้มีการติดตั้งกล้องสำหรับแยกแยะสีรถและส่งข้อมูลไปยังจอเกมสำหรับแสดงชื่อผู้ชนะอีกด้วย
การแข่งขัน: RoboCupJunior OnStage 2021 (Virtual Competition)
ทีม: Friendly Friends
ประเทศ: ฝรั่งเศส
การแสดงประกอบจังหวะเสียงเพลงที่บรรเลงโดยหุ่นยนต์ ซึ่งสั่งการโดยท่าทางของนักแสดงอีก 2 ท่าน นับเป็นการฏิสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ โดยหุ่นยนต์นักดนตรีจะมีกล้องอยู่ด้านหน้าเพื่อตรวจจับท่าทางมือของนักแสดง และแยกแยะคำสั่งตามท่าทางมือรูปแบบต่าง ๆ ประกอบกับหุ่นยนต์ที่ร่วมแสดงอีก 2 ตัวด้านหน้า ที่ทำการควบคุมและเคลื่อนไหวตามจังหวะเสียงเพลงและการตอบสนองต่อนักแสดงข้าง ๆ
การแข่งขัน: RoboCupJunior OnStage 2019
ทีม: Gearchangers
ประเทศ: อเมริกา
การแสดงของหุ่นยนต์อัตโนมัติแบบหมู่ ประกอบจังหวะเสียงเพลง โดยการควบคุมหุ่นยนต์หลายตัว (swarm robot) ให้เคลื่อนที่ประสานงานกันตามจังหวะเสียงเพลงและให้สอดคล้องกับการออกแบบรูปแบบการเคลื่อนที ซึ่งต้องใช้ความรู้เทคโนโลยีการออกแบบระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ เพื่อสร้างสีสรรค์และความบันเทิงให้กับผู้ชม พร้อมการออกแบบฉากเมืองที่มีสีสันน่าสนใจ เสริมการแสดงให้มีความสวยงาม
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
ผู้ดำเนินโครงการฯ
ทีมวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EDT)
กลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย (CNWRG)
และ งานพัฒนากำลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ (HRDS)
ฝ่ายบริหารโครงสร้างพื้นฐาน (IMD)
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
ผู้ประสานงานโครงการฯ
นางสาวจันทกร แจ้งชัด
งานพัฒนากำลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ (HRDS)
ฝ่ายบริหารโครงสร้างพื้นฐาน (IMD)
โทร. 02-564-6900 ต่อ 2324
E-mail: Jantakorn.jan@nectec.or.th